วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

บทความที่ 3 การคอรัปชั่นในระบบราชการไทย


บทความที่ 3

รายวิชาการจัดการสารสนเทศยุคใหม่ในชีวิตประจำวัน รหัสวิชา 0026008 กลุ่มเรียนที่ 1
ชื่อ นางสาว กาญจนา นาชัยพลอย รหัสนิสิต 54010917837(AC)
คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาบัญชี

 การคอรัปชั่นในระบบราชการไทย
 การคอรัปชั่นในระบบราชการ
              การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัญหาแต่เก่าแก่ในสังคมไทยและสังคมโลก ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์ต้องพึ่งพาเจ้าเมืองขุนนาง รวมทั้งผู้ทำหน้าที่ที่เจ้าภาษีนายอากรไปเก็บภาษีและส่วยจากราษฎรมาเป็นชั้นๆ และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นเก็บบางส่วนไว้เป็นของตนเอง และใช้เลี้ยงลูกน้องแทนเงินเดือน และบางส่วนให้รัฐบาลกลาง หรือ พระมหากษัตริย์ (ญาดา ประภาพันธ์. ระบบเจ้าภาษีนายอากรสมัยกรุงเทพฯยุคต้น, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2544.)  หากขุนนางไม่เก็บไว้เป็นของส่วนตัวมากเกินไปจนผิดสังเกต หรือจนมีคนร้องเรียนก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ  ไม่ใช่เรื่องทุจริตคอรัปชั่นแต่อย่างไร  ระบบวัฒนธรรมการเก็บภาษีเช่นนี้ คงมีส่วนส่งเสริมการฉ้อราษฎร์บังหลวงในสมัยต่อมา
              ในสมัยที่ประเทศไทยมีการจัดระบบการบริหารราชการแบบตะวันตก ( รัชการที่ 5 ) คือมีการจ่ายเงินให้กับข้าราชการระดับต่างๆ หากใครเบียดบังทรัพย์สินของราชการมากกว่าเงินเดือนที่ได้จริง เริ่มมีการจับตามองว่า เป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง  ซึ่งมีนัยหมายถึงการที่ขุนนางเบียดบังรายได้งบประมาณที่เป็นของราชการ หรือไปรีดไถทรัพย์สมบัติของประชาชนไปเป็นของส่วนตัว  เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรมแบบขุนนางเก็บภาษีและส่วยเอง  รวมทั้งวัฒนธรรมแบบผู้อุปถัมภ์ คือ ขุนนางต้องดูแลทุกข์สุขของผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์มาช้านาน เส้นแบ่งว่า อะไรคือการเก็บส่วยตามปกติ และอะไรคือการฉ้อราษฎร์บังหลวงจึงไม่ค่อยชัดเจน แม่กระนั้นก็ตาม การฉ้อราษฎร์บังหลวงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากเหล่าขุนนางยำเกรงพระราชอำนาจ ทั้งในแง่มีโอกาสถูลงโทษที่รุนแรงเด็ดขาด และในแง่การผูกผันทางความเชื่อ ถ้าคดโกงพระเจ้าพื้นดินแล้วจะเป็นบาป ทำให้ชีวิตตกต่ำเลวร้ายอย่างถึงที่สุด  นอกจากนี้แล้วโอกาสที่ขุนนางสมัยก่อนจะสะสมทุนไปลงทุนต่อมีน้อยมาก รวมทั้งสมัยก่อนก็ไม่มีสินค้าฟุ่มเฟือยให้ซื้อหาได้มากมายเหมือนในสมัยที่ประเทศไทยพัฒนาเป็นทุนนิยมอุสาหกรรมมากขึ้นในภายหลัง  ขุนนางโดยทั่วไปมีฐานะความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จึงทำให้มีค่อยมีแรงจูงใจให้ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากนัก แต่เมื่อการเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง  การปกครองเป็นประชาธิปไตยและทุนนิยมที่ข้าราชการนักการเมืองมีอำนาจมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ประชาชนมีค่านิยมยกย่องเงิน มีสินค้าฟุ่มเฟือยมีช่องทางจะสะสมและใช้เงินเพิ่มขึ้น  การฉ้อราษฎร์บังหลงจึงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศไทยเกิดการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น  และมีช่องทางให้เกิดตลาดมืดและการชื่อราษฎร์บังหลวงกันมาก  เป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งที่ส่งเสริมให้ทำการทุจริต คอรัปชั่นกันมากขึ้น (สนิทเจริญรัฐ. โอ้ว่าอาณาประชาราษฎร์, แพร่พิทยา, 2507 )  หลังจากนั้นการทุจริต คอรัปชั่น จึงขยายตัวมาตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อสภาพการเมืองของประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ต้องตกมาอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นส่วนใหญ่  เพราะการที่ชนชั้นผู้นำ ผู้บริหารมีอำนาจมากและมีโอกาสถูกตรวจสอบน้อยนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นได้มาก
สาเหตุข้อหนึ่งของการขยายตัวของปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น คือ การพัฒนาแบบทุนนิยม การด้อยพัฒนาของประเทศไทยทำให้มีช่องว่าทางอำนาจและความรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างชนชั้นสูงกับประชาชนมาขึ้น  กลุ่มคนที่มีอำนาจมีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูง มีโอกาสที่จะทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย โดยที่ประชาชนไม่ค่อยมีโอกาสรู้ หรือตรวจสอบได้หรือเข้าถึงประชาชนบางส่วนจะรู้บ้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะประชาชนอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีกลุ่มองค์กรกลไกในการตรวจสอบ  ยิ่งเป็นยุคที่ปกครองรัฐบาลเผด็จการทหาร เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงปลาย ( พ.ศ.2490-2500 ) จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ (พ.ศ.2500-2506 ) และจอมพล ถนอม   กิตติขจร ( พ.ศ.2506-2510 ) ไม่มีรัฐสภาตรวจสอบ  หนังสือพิมพ์และองค์กรประชาชนไม่ค่อยมีเสรีภาพ นักการเมืองยิ่งมีโอกาสให้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นกันมาก  รวมทั้งนักการเมืองใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือและเปิดทางให้ข้าราชการให้ทุจริตคอรัปชั่นแบบ ส่งส่วยให้ผู้บังคับบัญชา หรือแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ด้วยจึงทำให้เกิดการร่วมมือกันคอรัปชั่นโดยไม่ค่อยมีการตรวจสอบคานอำนาจกัน แม้ในบางยุคสมัยจะมีข้าราชการผู้ใหญ่ซื่อตรง และที่คอยทัดทานนักการเมืองอยู่บ้าง เช่น ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ช่วงปี พ.ศ. 2493-2516 แต่ก็เป็นคนส่วนน้อยและทำหน้าที่ได้จำกัด (วิทยา  เชียงกูล. ศึกษาบทบาทและความคิด อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์,มิ่งมิตร,2531)
               การทุจริตคอรัปชั่นในยุคตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหาร มักจะเป็นการทุจริตคอรัปชั่นจากงบประมาณของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเฉพาะงบราชการลับ และการเบียดบังจากรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสูง เช่น สำนักงานสลากกินแบ่ง ซึ่งถือเป็นรายได้พิเศษนอกงบประมาณที่แทบไม่มีการตรวจสอบเลย  นอกจากนั้นก็เป็นการทุจริตแบบหาผลประโยชน์ค่าหัวคิวและหุ้นล้มจากโครงการสัมปทานแก่บริษัทเอกชนที่รับเหมาก่อสร้างหรือขายสินค้าและบริการให้ภาครัฐบาล ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังคงมีการทุจริตคอรัปชั่นด้วยเช่นกัน  เนื่องจากนักการเมืองและข้าราชการมีอำนาจมากกว่าภาคประชาชนมากมายหลายเท่า และระบบตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน หนังสือพิมพ์และองค์กรภาคประชาชนไม่ต่อยเข้มแข็งมากนัก

การคอรัปชั่นในสายตาของคนไทยส่วนใหญ่อาจมองเป็นเรื่องปกติไม่เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ปัญหาการคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยมากยิ่งนัก เพราะส่วนใหญ่การคอรัปชั่นจะเป็นการคอรัปชั่นในระบบราชการ เพราะงบประมาณในการพัฒนาประเทศจะต้องถูกใช้โดยหน่วยงานต่างๆรัฐฯ จึงมีช่องว่างให้กับข้าราชการที่จะคอรัปชั่นเพราะงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาประเทศนั้นเป็นจำนวนที่มาก จึงล่อตาล่อใจให้ข้าราชการคิดคอรัปชั่นเงินของประเทศชาติ ซึ่งงบที่ถูกคอรัปชั่นไปนั้นถ้านำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านพื้นฐานหรือด้านอื่นๆ ก็จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ประโยชน์จากตรงนั้นที่ขาดไปเพิ่มขึ้น ในบางครั้งงบที่ได้ไปในการดำเนินงานกับงานที่ได้กลับคืนมานั้นมาไม่สมดุลกัน ประมาณว่างบที่ได้รับไปเยอะแต่ผลงานที่ได้มานั้นมันไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าเราแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่แค่ลดการคอรัปชั่นให้น้อยลงประเทศของเราก็จะมีการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แม้ประเทศไทยจะมีปัญญาชนผู้มีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่น่าจะรู้เท่าทันนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นได้พอสมควร แต่ส่วนใหญ่พวกเขามักจะมีท่าทีแบบมุ่งทำงานเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนตนมากกว่าที่จะเป็นพลเมืองดีที่สนใจการมีบทบาททางการเมือง เช่น การตรวจสอบรัฐบาล คนชั้นกลางที่คิดในเชิงมุ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนตนมักจะใช้แนวคิดว่านักการเมืองก็มักโกงกันทุกฝ่าย ดังนั้นหากใครโกงแล้วทำงานเก่งทำให้เศรษฐกิจโตก็ถือว่าพอรับได้ นี่ขนาดเป็นการทุจริตคอรัปชั่นรูปแบบที่พอเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นรูปแบบการหาผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ไม่ผิดกฎหมายและเห็นได้ยาก ประชาชนไทยยังไม่ตระหนักหรือไม่ถือว่า เป็นการทุจริตคอรัปชั่นด้วยซ้ำ การขาดความรู้และความตระหนักว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นทำให้ประเทศชาติสมัยใหม่เสียหายอย่างไร มีส่วนส่งเสริมให้ปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศไทยขยายตัวได้มากขึ้น เพราะภาคประชาชนอ่อนแอ ขณะที่ภาคนักธุรกิจการเมืองทีมีอำนาจเข้มแข็งขึ้น ทั้งอำนาจทางธุรกิจ อำนาจทางความรู้ และสามารถหาประโยชน์อย่างพลิกแพลงรูปแบบต่างๆมากมาย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการสำรวจทัศนคติของประชาชน โดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2548 พบว่า คนไทยมีความอดทนต่อการทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2544 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม 32.8% ตอบว่า สามารถทนต่อปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้งานลุล่วงต่อไปได้  ซึ่งรูปแบบของการคอรัปชั่นและรวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนในปัจจุบันนั้นมีหลายแบบที่ปรากฏอยู่ในระบบราชการไทย ดังต่อไปนี้
          1. การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยการสร้างการขาดแคลนเทียม เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล
          2. เครพโตเครซี (Kleptocracy ) เป็นการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัวและอาจกระทำโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
          3. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลได้ผลเสียส่วนตัว และผลดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือการกระทำหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม
          4. การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ (ปั่นราคาหุ้นตัวเอง)
          5. ปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง การปิดบังข้อมูลและให้การเท็จ เช่น การทุจริตกรณีลำไยและกล้ายาง
          6. การทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐบาล ทุจริตเชิง นโยบาลเป็นรูปแบบใหม่ของการทุจริตที่แยบยล โดยอาศัยรูปแบบของกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรี  หรือมติของคณะกรรมการเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ประชาชน ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องชองธรรมซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริงดังนี้
          - มีการกำหนดนโยบายที่จะทำโคตรงการหรือกิจการ โดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐบาลที่อ้างประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนเป็นอันดับแรก
          - มีการเตรียมตัวการรองรับโครงการหรือกิจการนั้นให้มีความชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบ
          - ท้ายที่สุด คือ ผลประโยชน์อันมิควรได้เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผลประโยชน์ที่มหาศาล ที่ตกได้กับฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติหรือข้าราชการประจำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่
           7. การใช้อิทธิพลทางการค้า แสดงบทบาทเป็นนายหน้าหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากกาค้าต่างตอบแทน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า เช่น การแลกไก่กับเครื่องบินรบของรัสเซีย
           8. การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ การปลอมแปลงเอกสาร การฉ้อฉล การใช้กองทุนของรัฐ ไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น การใช้ธนาคารของรัฐในโครงการประชานิยม
           9. ไม่กระทำการตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมา แต่ใช้ลัทธิพรรคพวกแทน เช่น การจัดฮั้วประมูล
          10. การให้และการรับสินบน การขู่เข็ญบังคับและการให้สิ่งล่อใจ
          11. การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น เช็คของขวัญมูลค่าสูง และสินบนมูลค่าสูง
          12. ระบบอุปถัมภ์กล่าวคือ สังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง คือเป็นสังคมของกลุ่มที่มีอำนาจกับกลุ่มไม่มีอำนาจ โดยกลุ่มที่มีอำนาจจะทำทุกวิถีทางที่ให้ตนมีอำนาจส่วนกลุ่มไม่มีอำนาจก็จะทำทุกวิถีทางให้ตนอยู่รอด และระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่ดูแลค้ำชูโดยผู้ใหญ่ดูแลเด็ก เด็กดูแลผู้ใหญ่ ซึ่งระบบอุปถัมภ์นี้เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเช่นเมื่อราชการกระทำความผิดเกิดขึ้นอาจเกิดจากเหตุที่ ไม่รู้ว่ากระทำนั้นเป็นการกระทำที่ผิด มีความจำเป็นในการกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือ เกรงกลัวต่ออำนาจหรือกระโดยทุจริตก็ตาม เมื่อราชการกระทำผิดนักการเมืองมาโอบอุ้มส่วนราชกาให้พ้นผิด
การกระทำดังกล่าวเช่นนี้เป็นการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันจึงทำให้เกิดการสนองตอบด้วยการกระทำความผิดเนื่องจาก
          - กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง
          - การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง
          - ความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริตการทุจริตคอรัปชั่นสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ คือ 1) การทุจริตเชิงนโยบาย 2) ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 3) การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง 4) การทุจริตในการให้สัมปทาน
           13. ใช้อำนาจของตำรวจ ทหาร และข้าราชการในทางที่ผิด (ข่มขู่ คุกคามและทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัวในการชุมนุมประท้วงนโยบายรัฐบาลและในการเลือกตั้ง)
           14. ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียงและการทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ
           15. การบริจาคเพื่อช่วยเหลือการรณรงค์ที่ผิดกฎหมาย (การบริจาคให้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองรัฐบาล เพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการออกกฎหมายของรัฐบาล)
                    แหละทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักเพื่อที่จะเห็นภาพด้วยรวมอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้งดังต่อไปนี้
 1. ระบบส่งส่วย (syndicate corruption)
                วิธีการ  :  ข้าราชการชั้นผู้น้อยเก็บส่วย หรือภาษีไม่เป็นทางการแล้ว รวบรวมที่กองกลาง หลังจากนั้นแจกจ่ายรายได้ส่วยไปยัง ข้าราชการทั้งระดับสูงและล่างในกรม กอง
                 แหล่งสำคัญ :  เช่น ที่ดิน ตำรวจ ศุลกากร
 2. กินตามน้ำ  การจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement kickbacks)
วิธีการ  :  สินบนการจัดซื้อจัดจ้าง
 แหล่งสำคัญ :  เช่นสาธารณสุข  ศึกษาธิการ เกษตร องค์กรบริหารท้องถิ่นระดับต่างๆ และเทศบาล มหาดไทย
3. การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจการบางประเภทที่ต้องได้ สัมปทานจากรัฐบาล และเพื่อคงสภาพการผูกขาดนั้นไว้ โดยการจ่ายสินบนเป็นการจ่ายประจำให้ข้าราชการหลายระดับ ในบางกรณีจ่ายทั้งกรม
 แหล่งสำคัญ  :  เช่น กระทรวงการคลัง
4.การคอรัปชั่นการประมูลโครงการ
 วิธีการ  :  หลายวิธีการ แต่โจ่งแจ้งที่สุดคือ การฮั้วกันระหว่างกลุ่มผู้เสนอประมูลเพื่อควบคุมการประมูลแล้วมีข้อตกลง กันเป็นผู้ชนะประมูลเป็นคราว ๆ ไป          
 แหล่งสำคัญ  :  เช่น  คมนาคม  กลาโหม  มหาดไทย

               ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นช่องทางในการคอรัปชั่น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันมีหลากหลายช่องทางที่จะนำไปสู่การคอรัปชั่น ดังนั้นพวกเราประชาชนคนไทยต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหน่อยงานของรัฐฯ ให้มีการคอรัปชั่นให้น้อยลงให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะจะทำให้การคอรัปชั่นหมดไปจากประเทศไทยเลยทีเดียวคงเป็นไปได้ยากจึงต้องเริ่มด้วยการค่อยเป็นค่อยไป และพวกเราประชาชนคนธรรมดานี้แหละที่จะเป็นหูเป็นตาให้กับผลประโยชน์ของตัวเองที่จะได้รับ จากส่วนที่หายไปซึ่งอันที่จริงควรเป็นสิ่งที่เราได้รับหรือได้รับการบริการอย่างสะดวกสบาย
                จากช่องทางในการคอรัปชั่นที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  จะสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ
ประการแรก ทัศนคติของคนไทยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่มีต่อการคอรัปชั่นนั้น มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง สำหรับกลุ่มข้าราชการ ทหารและตำรวจนั้น พบว่าประเพณีนิยมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิม ยังคงมีอิทธิพลต่อความคิด และการให้ความหมายของคำว่าคอรัปชั่นอยู่ค่อนข้างมากฉะนั้นพฤติกรรมการปฏิบัติของข้าราชการที่ไม่สอดคล้องกับแนวความคิดของการเป็น บุคคลสาธารณะหรือ ข้าราชการสมัยใหม่จึงปรากฏให้เห็นอยู่โดยทั่วไป การฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความบริสุทธิ์ใจจึงยังคงดำรงอยู่ค่อนข้างมาก
                ประการที่สอง  สาเหตุของการคอรัปชั่นของข้าราชการอยู่ที่ตัวระบบราชการมากกว่าอยู่ที่ตัวข้าราชการในฐานะปัจเจกบุคคล ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องวางน้ำหนักไปที่การแก้ไขปัญหาความคิด ความเชื่อของตัวระบบ ความไม่มีประสิทธิภาพของตัวระบบ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาของตัวข้าราชการในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ สวัสดิการ จริยธรรมในการทำงาน ความคาดหวังและโอกาสในชีวิตของตัวข้าราชการในระยะยาว ฯลฯ
                ประการที่สาม ประสิทธิภาพของตัวระบบราชการ หรือการบริหารราชการ    แผ่นดินเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเกิดการคอรัปชั่นในวงราชการ อันนำไปสู่การสูญเสียเงินรายได้ของรัฐบาลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีความลักลั่นในการให้บริการของข้าราชการแก่ผู้ที่มาติดต่อ ประชาชนผู้เสียภาษีไม่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ   นักธุรกิจต้องใช้จ่ายเงินในการติดต่อกับหน่วยราชการมากขึ้น  และธุรกิจต้องมีทุนในการประกอบกิจการสูงขึ้น
การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นนั้นควรมีการว่างแผนอย่างจริงจังและมีผลที่ให้รับโทษอย่างจริงจัง การวางแผนป้องกันหรือการปราบปรามการคอรัปชั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งเรื่องการคอรัปชั่นในน้อยลงหรือหายไปในที่สุด ซึ่งก่อนอื่นในการแก้ปัญหาในประเทศไทยควรจะแบ่งการแก้ไขปัญหาเป็นสองส่วนเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนแรกควรมีการป้องกันการคอรัปชั่น เพราะการป้องกันการคอรัปชั่นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการลดระดับการคอรัปชั่นในระยะยาว หลักการคือลดโอกาสหรือปิดช่องโหว่ที่นำไปสู่การคอรัปชั่นได้ง่ายๆมีการทดสอบความซื่อสัตย์ของข้าราชการเป็นครั้งคราว และแสวงหาข้อมูลเรื่องการคอรัปชั่นภายในหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานที่มีปัญหาการคอรัปชั่น เช่น กรมตำรวจ กรมที่ดิน กรมโยธาธิการ บางหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ให้ตั้งหน่วยงานเพื่อรับข้อร้องเรียนเรื่องการคอรัปชั่นของตนเองขึ้นมา มีหน้าที่เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางแก้ไข
แนวทางแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นภายในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานควรทำเองได้ ควรประกอบด้วยวิธีการป้องกันต่าง ๆ อาทิเช่น
                1. ปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ของการให้บริการประชาชนให้เรียบง่าย  ลดโอกาสที่ข้าราชการจะใช้อำนาจเพื่อการคอรัปชั่น
                2. การจับตาดูเพื่อประเมินพฤติกรรมคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบในหน่วยงานที่มีการร้องเรียนเรื่องการคอรัปชั่นหนาหู หรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้น อาจใช้ทั้งระบบจัดตั้งกล้อง ถ่ายวีดีโอ และการใช้สายสืบภายในโดยมิบอกเล่าให้ข้าราชการทราบหัวหน้าสำนักงานจะต้องหูตาไวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  แสวงหาทางกระจายกลุ่มคนที่อาจรวมหัวกันตั้ง แก๊งดังกล่าว
                3. ลดโอกาสการคอรัปชั่น โดยการสับเปลี่ยนบุคคล หรือการโยกย้ายหน่วยงานที่ทำบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มจัดตั้ง แก๊งหรือ syndicate ในการคอรัปชั่น
                4. จับตาดูพฤติกรรมของระดับหัวหน้างาน ซึ่งจากประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ พบว่า ข้าราชการระดับหัวหน้ามีแนวโน้มจะคอรัปชั่นสูงแล้วจึงหาวิธีการอันเดียวกันจับตาดูพฤติกรรมของข้าราชการระดับรองลงมา
                5. ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการเงินทุกระดับต้องได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นพิเศษ  และควรต้องแจงมูลค่าทรัพย์สินของตนเองและครอบครัวแก่ทางการพร้อมหลักฐานทุกปีเพื่อป้องกันมิให้ร่ำรวยผิดปรกติจากการคอรัปชั่น
                6. ทุกหน่วยงานที่มีปัญหาการคอรัปชั่นต้องมีหน่วยงานวิจัยลู่ทางการคอรัปชั่นในสำนักงาน รวมทั้งศึกษาลักษณะประเภทบุคคลที่มีแนวโน้มจะทำการคอรัปชั่นจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว
                7. มีการทำ integrity test หรือการทดสอบเรื่องความซื่อตรงของข้าราชการในหน่วยงานเป็นครั้งเป็นคราว
                8. จัดตั้งศูนย์ทำการสำรวจทัศนคติของสาธารณชนเพื่อประเมินผลการทำงานและการคอรัปชั่นของข้าราชการในสำนักงาน
                ในเมื่อมีระบบการป้องกันการคอรัปชั่นในหน่วยงานแล้วนั้น สิ่งที่ควรที่จะมีต่อไปก็คือการปราบปรามการคอรัปชั่นเพราะตัดเนื้อร้ายของปัญหาโดยการออกมาตรการ ที่มีผลลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจน และนโยบายเชิงลุกที่ชัดเจนในการปราบปรามการคอรัปชั่น ในระยะสั้นก่อนเพราะเป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นการป้องกันตามหัวข้อหลักของรูปแบบการคอรัปชั่นเช่น
1. ระบบส่วยและระบบสินบนเพื่อการผูกขาดกิจการบางอย่าง หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
   -  ยุทธศาสตร์เฉียบพลัน มีการวางแผนอย่างรัดกุมล่วงหน้า
   - เปิดโปงพฤติกรรมแล้วให้ผู้กระทำความผิดระดับสูงจำนวนหนึ่งลา หรือเกษียณออกจากราชการ- นิร  โทษกรรมข้าราชการะดับล่าง และผู้ให้สินบน
   - ประกาศโทษร้ายแรงสำหรับผู้กระทำความผิดอีก (รวมทั้งผู้สินบน) ในอนาคตสิ่งที่ต้องทำก่อน- สืบสวนสอบสวนเป็นการลับ เพื่อหาแหล่งที่มาของเงินกระบวนการรับเงินการฝากเงิน(ธนาคารทั้งในและนอกประเทศ) บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องเป็นหัวโจกสิ่งที่ต้องทำระยะยาว
   - การปฏิรูประบบการคัดเลือก และการฝึกอบรม
2. กินตามน้ำ  การจัดซื้อจัดจ้างและการควบคุมการประมูลโครงการ
   - สร้างระบบข้อมูลการประมูลและกฎเกณฑ์ให้โปร่งใสที่สุด ที่ประเทศเม็กซิโก  ส.ต.ง.  เป็นผู้จัดการเรื่องนี้ และนำข้อมูลเรื่องการประมูลโครงการรัฐ   (Federal Government)  ใส่อินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผย ใคร ๆ ก็เปิดดูได้และจะแสดงรายชื่อบริษัทที่ชนะประมูล หรือแพ้การประมูลรวมทั้งเหตุผล
   - มีระบบตรวจเช็ค (Check and balances) ในกระบวนการกำหนดนโยบาย
   - ออก พ.ร.บ. ป้องกันและมีบทลงโทษผู้ฮั้วการประมูล (เช่นการห้ามมิให้ประมูลอีกในอนาคต)
เมื่อเรามีแผนการป้องกันและแผนการปราบปราม(ระยะสั้น)เราก็ควรจะมีแนวทางที่เป็นการแก้ไขในระยะยาวในการปราบการคอรัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรมที่ส่งผลในระยะยาวและได้ผลจริงซึ่งจะครอบคลุมอย่างละเอียด ซึ่งควรที่จะใช้เป็นแผนในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในอนาคต แผนในระยะยาวมีมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ให้มีพ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษ เพื่อสืบสวนสอบสวนกรณีอื้อฉาวสำคัญที่สาธารณชนให้ความสนใจมาก เป็นกรณีสำคัญที่มีผลสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล หรือกระทบประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการอย่างมาก (เช่น กรณีบีบีซี กรณีสินบน 5 ล้านบาทป่าสาละวิน ฯลฯ)
คณะกรรมาธิการพิเศษนี้ (คล้าย ๆ กับ Royal Commission ของ ออสเตรเลีย) มีอำนาจหน้าที่หลักคือ (ก) สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อสืบสวนสอบสวนแสวงหา   ข้อเท็จจริง  (ข)  เสนอแนะการดำเนินคดีตามกฎหมาย  (ค)  เสนอแนะการเปลี่ยนแปลงก.ม. หรือกฎระเบียบ หรือหลักปฏิบัติ (Codes of Conduct) เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก  (ง) เปิดเผยผลการสืบสวนสอบสวนให้สาธารณชนได้รับทราบ
2. ปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ป ให้มีการเจาะเน้นเฉพาะเรื่องการ คอรัปชั่นสำคัญมากขึ้น เช่น เรื่องรูปแบบการคอรัปชั่น 4 ประเภทที่กล่าวข้างต้น โดยจัดทำ   เป็นแผน 5 ปี เน้นเจาะเป็นเรื่อง ๆ ไป งานสำคัญประการหนึ่งของ ป.ป.ป.คือการรณรงค์ให้ข้าราชการและสาธารณชนได้ตื่นตัวร่วมต่อต้านการคอรัปชั่น รวมทั้งการให้การศึกษาอบรมเรื่องปัญหาการคอรัปชั่นเพื่อสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมใหม่ อาจขอความร่วมมือจากบริษัทโฆษณา สื่อทีวี หนังสือพิมพ์ (ดังในกรณี ตาวิเศษ”)
การรณรงค์ในบรรดาข้าราชการให้เจาะเน้นไปที่ข้าราชการรุ่นใหม่รุ่นเยาว์ใช้วิธีการทันสมัยที่โยงกับระบบแรงจูงใจ ซึ่งอาจจะต้องประสานงานกับสำนักงานก.พ. และกระทรวงการคลัง
                3. งานต่อต้านการคอรัปชั่นมิใช่เป็นเรื่องของ ป.ป.ป.เท่านั้น หน่วยงานอื่น ๆ ต้องเข้ามีบทบาทด้วย เช่น ขยายขอบข่ายงานของ ส.ต.ง. เพื่อช่วยอุดช่องโหว่ของระบบการควบคุม และระบบบริหารราชการในปัจจุบัน
                ในเรื่องนี้ใคร่ขอเสนอให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่จำกัดการทำงานของ ส.ต.ง. ร.ธ.น.ใหม่ให้อำนาจ ส.ต.ง.มากขึ้นและให้ความอิสระ แต่ต้องให้แน่ใจว่า ก.ม.ลูกจะสอดคล้องกับหลักการที่เสนอไว้ใน ร.ธ.น.เห็นควรให้ขยายขอบข่ายงานของ ส.ต.ง.ให้ครอบคลุมการประมูลโครงการและการจัดซื้อจัดจ้าง
                4. สร้างขบวนการปรับปรุงและลดกฎเกณฑ์ภายในกรมกองต่าง ๆ ของข้าราชการอย่างต่อเนื่อง แล้วเปิดเผยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างโปร่งใส ถ้าเป็นไปได้ให้ลงอินเตอร์เน็ตให้ผู้คนเข้าถึงได้ (เม็กซิโกทำอย่างนี้) วิธีการนี้เรียกว่า Internal Deregulation
มีขบวนการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานราชการที่มีโอกาสมีปัญหาการคอรัปชั่นร้ายแรงได้อย่างต่อเนื่อง อาจต้องมีการทำการวิจัยก่อนที่จะเสนอการปรับปรุง โดยเฉพาะในกรณีของ
- ปัญหาคอรัปชั่นเรื่องที่ดิน
- ตำรวจ
- ศุลกากร
- มหาดไทย
- กระทรวงศึกษา สาธารณสุข และอื่น ๆ
                สรุปก็คือทุก ๆประเทศมีปัญหาการคอรัปชั่น เพราะข้าราชการก็คือมนุษย์ที่มีกิเลส คล้าย ๆกันทั้งสิ้น แต่หลายประเทศพยายามแก้ปัญหา โดยกระบวนการหลายขั้นตอนที่ต่อเนื่อง สร้างวัฒนธรรมของความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และการแยกระหว่าง ส่วนตัว กับ สาธารณะ รวมทั้งการสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และลดแรงจูงใจให้ทำการคอรัปชั่น ความแตกต่างในประเทศไทย คือยังไม่มีรัฐบาลใดมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นอย่างแท้จริง

 อ้างอิง
 - ผลงานการวิจัยเรื่อง การคอรัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย  ของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์  การเมือง คณะ   เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2534-2536
- วิทยากร เชียงกูล. ศึกษาบทบาทและความคิด อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์, มิ่งมิตร, 2531
- บทความวินัยครู : สราวุธ  ม่วงทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น